วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย


ทวีปยุโรปเป็นแหล่งกำเนิดของหนังสือพิมพ์  ในรูปแบบต่าง ๆ และเทคโนโลยีจนต่อมาในครึ่งหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 วิทยาการด้านหนังสือพิมพ์จึงแพร่กระจายเข้ามาสู่สังคมไทย โดยการนำของกลุ่มมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนา จากทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ
มิชชันนารีที่มีบทบาทสำคัญมากคนหนึ่ง ชื่อ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2378 ในฐานะมิชชันนารีของสมาคมศาสนาแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า คณะ ABCFM (American Board of Commissioners for Foreign Missions) ซึ่งมีนโยบายส่งมิชชันนารีจำนวนมากไปเผยแผ่ศาสนาในต่างแดน หมอบรัดเลย์ ได้เข้าร่วมโครงการนี้ และเดินทางมาสู่กรุงสยาม การเดินทางมาในครั้งนั้น หมอบรัดเลย์ได้นำเอาแท่นพิมพ์ และตัวพิมพ์อักษรไทยที่มิชชันนารีชื่อ อาบีล ซื้อทิ้งไว้ ที่สิงคโปร์เข้ามาด้วย ผลงานชิ้นแรกของหมอบรัดเลย์ คือ สิ่งพิมพ์ทางคริสต์ศาสนา ซึ่งได้พิมพ์แจกจ่ายให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ใน พ.ศ. 2387 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หมอบรัดเลย์ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของกรุงสยาม คือ บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) โดยออกเป็นราย 15 วัน แต่จำหน่ายได้เพียงปีเศษก็ล้มเลิกไป เนื่องจากหมอบรัดเลย์เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่สนับสนุน ต่อมาใน พ.ศ. 2408 ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนั้น ชาวตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุด เป็นจุดเปลี่ยนของสยาม" เพราะเป็นการนำเสนอทัศนะและมุมมองใหม่ๆ ในการมองโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เนื่องจากเวลานั้น ในสังคมไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากนัก สำหรับหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์นี้ หมอบรัดเลย์ใช้ชื่อว่า หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ เพราะในเวลานั้นยังไม่มีการใช้คำว่า หนังสือพิมพ์ โดยรายงานเหตุการณ์คล้ายจดหมายเหตุของไทยแต่ดั้งเดิม เพียงแต่ประกอบด้วยข่าวสั้นหลายๆ ข่าว ไม่เขียนยาวๆ เหมือนจดหมายเหตุ จึงถูกเรียกว่า "จดหมายเหตุอย่างสั้น" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อหนังสือจดหมายเหตุประเภทนี้ว่า "หนังสือพิมพ์"
การออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ ของหมอบรัดเลย์ไม่สะดวกราบรื่นนัก เนื่องจากเสรีภาพในด้านการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองนั้น ค่อนข้างขัดแย้งกับระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มีเจ้านายพระองค์หนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งบทความไปตีพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่เนืองๆ เพื่อทรงอรรถาธิบายประวัติศาสตร์ และโบราณราชประเพณีของไทย นับเป็นการสานสัมพันธ์กับชาวต่างชาติโดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อกลางอย่างชาญฉลาด และทรงพระปรีชายิ่ง ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงออกหนังสือพิมพ์ชื่อว่า ดรุโณวาท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทยที่จัดทำและดำเนินการโดยคนไทย พิมพ์ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ มีเนื้อหาสาระที่ทันสมัย แสดงความสามารถ และสติปัญญาของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยุคนั้น เพื่อชี้ทิศทางของสังคมไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของหนังสือพิมพ์ โดยให้หนังสือพิมพ์มีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ยังทรงเป็นบรรณาธิการ และทรงอุปถัมภ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับ  เช่น หนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ สยามออบเซอร์เวอร์ ไทย ดังนั้น ในสมัยนี้ จึงมีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รัชสมัยของพระองค์จึงได้รับการขนานนามว่า เป็น "ยุคทองของการหนังสือพิมพ์ไทย" นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อในการปกครอง โดยชี้ให้เห็นว่า สยามควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรเลียนแบบสังคมตะวันตก ซึ่งหลายอย่างไม่สามารถเข้ากันได้กับสังคมไทย ทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ และมีพระราชดำริว่า คนไทยต้องแก้ไขตนเอง โดยควรขยันทำงาน เลิกเล่นการพนัน มีการศึกษา ใช้สมองมากกว่ากำลังกาย ประพฤติตนเป็นสุภาพบุรุษ ไม่หยาบคาย และสตรีต้องมีสิทธิเท่าเทียมบุรุษ ทั้งยังทรงชี้ให้เห็นความจำเป็นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เปรียบประดุจบิดาของราษฎร แต่กระแสแนวคิดตะวันตกในเวลานั้น ค่อนข้างรุนแรง คนไทยกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "กลุ่มปัญญาชน" กลับมีแนวคิดว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเครื่องกีดกั้นความเจริญ โดยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ หมอบรัดเลย์นำเสนอรูปแบบการปกครองแบบใหม่ในสังคมไทย กลุ่มปัญญาชนที่มีแนวคิดนี้ เช่น เทียนวรรณ ซึ่งใช้นามปากกาว่า "ต.ว.ส. วัณณาโภ" ได้ออกวารสารชื่อ ตุลวิภาคพจนกิจ รายปักษ์ และ ศิริพจนภาค รายเดือน เรียกร้องสิทธิในการพูด และให้นิยามความเจริญของสยามว่า คือ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ต่อมามีกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ยังเติร์ก" ใช้นิตยสาร ยุทธโกษ (หรือฉบับเดิมชื่อว่า ยุทธะโกษ) เป็นสื่อแสดงความเห็นใจประชาชนผู้ยากไร้ และให้นิยามความเจริญว่า คือ ประชาธิปไตย นอกจากนี้ นายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรือง ได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อว่า จีนโนสยามวารศัพท์ ตอกย้ำแนวคิดปฏิวัติแบบ ซุนยัดเซ็น ซึ่งมีอิทธิพลต่อปัญญาชนสมัยนั้นมาก
การต่อสู้ด้วยข่าวสารระหว่างราชสำนักกับสามัญชนดำเนินต่อไปอย่างยาวนาน จนกระทั่งคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 และได้เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ แต่ต่อมากลับใช้อำนาจในการปกครอง ทิ้งอุดมการณ์เสรีภาพ หันไปยึดลัทธิชาตินิยมและลัทธิผู้นำ มีการควบคุมและแสวงหาประโยชน์จากสื่อ สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารถูกจำกัดยิ่งกว่าเดิม จนมาถึงสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ถูกควบคุมจนไม่สามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้ นักหนังสือพิมพ์หลายคนพยายามต่อต้านแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ "14 ตุลา 2516" หนังสือพิมพ์จึงเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

ข้อดี - ข้อเสีย

ข้อดี-ข้อเสีย

ข้อดีของหนังสือพิมพ์
- มีความคงทนถาวรเมื่อเปรียบเทียบกับวิทยุ โทรทัศน์ เมื่อผู้อ่านไม่เข้าใจตอนใดก็สามารถย้อนกลับมา
- ทบทวนใหม่ได้ และสามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้
- มีราคาถูก สามารถซื้อหาได้ง่าย
- สามารถเข้าถึงประชาชนได้หลายกลุ่มอาชีพ เพราะหนังสือพิมพ์มีหลายประเภท ประชาชนสามารถ
- ซื้อหาหนังสือพิมพ์ประเภทที่เหมาะสมกับความสนใจได้
- หนังสือพิมพ์สามารถเสนอข่าวหรือรายละเอียดจำนวนมากได้ และการเสนอข่าวทางหนังสือพิมพ์
- สามารถทำได้เป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์ได้ ดังนั้นประชาชนสามารถติดตามข่าวสารได้อย่าง
- สม่ำเสมอและต่อเนื่อง
- หนังสือพิมพ์มีภาพประกอบช่วยดึงดูดความสนใจได้เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุ

ข้อเสียของหนังสือพิมพ์
- หนังสือพิมพ์มีช่วงอายุสั้น เช่น หนังสือพิมพ์รายวันก็จะมีข่าวเปลี่ยนทุกวัน
- หนังสือพิมพ์ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนที่ไม่รู้หนังสือหรืออ่านไม่ออก และไม่สามารถเข้าถึงในพื้นที่
- ที่มีการคมนาคมที่ไม่สะดวก
- หนังสือพิมพ์มีลักษณะที่ไม่น่าอ่านเมื่อเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ นิตยสาร เป็นต้น
- ถึงแม้หนังสือพิมพ์จะสามารถใส่ภาพประกอบได้แต่ก็มีลักษณะที่ไม่สวยงามสะดุดตาม เนื่องจาก
- ใช้กระดาษราคาถูกไม่มีคุณภาพ
- ผู้อ่านจะเลือกอ่านเฉพาะคอลัมน์ที่สนใจ ดังนั้นอาจไม่ได้รับข่าวสารที่อยู่ในคอลัมน์ที่ไม่ได้อ่านได้

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

บทบาทและหน้าที่

บทบาทและหน้าที่ของหนังสือพิมพ์

ในระบอบประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์เป็นผู้ให้ข่าวสารที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นเวทีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ของบุคคลกลุ่มต่างๆ หนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นสื่อของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นสื่อของมวลชนทั้งหมดในสังคม ดังนั้น หนังสือพิมพ์ต้องมีเสรีภาพ ในการนำเสนอความจริงอย่างถูกต้องครบถ้วน และปราศจากอคติ
บทบาทหลักของหนังสือพิมพ์ในระบอบประชาธิปไตยมี 4 ประการ คือ
1.บทบาททางการเมือง
หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการบริหารบ้านเมืองแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนรู้ว่า รัฐบาลผู้ปกครองประเทศกำลังทำอะไรอยู่ และทำตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนหรือไม่ ทำให้มีผู้เรียกหนังสือพิมพ์ว่าเป็น "สุนัขเฝ้าบ้าน" (watchdog) ของประชาชน
2.บทบาทในการให้การศึกษา
หนังสือพิมพ์ให้ความรู้ด้วยข้อมูลข่าวสาร และมีการนำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้านที่ครบถ้วน เพื่อนำไปตัดสินใจเลือกวิถีทางดำเนินชีวิตของตนเองและสังคม หนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่จะสนองสิทธิการรับรู้ของประชาชนดังกล่าว โดยต้องนำเสนอข่าวสารเพื่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
3. บทบาททางสังคมและวัฒนธรรม
หนังสือพิมพ์มีบทบาทในการเป็นกระจกสะท้อนสังคม ประชาชนรับรู้ความเป็นไปของสังคมได้จากการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ เช่น ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวภัยธรรมชาติ ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวสังคม ข่าววัฒนธรรม ทั้งยังได้รับรู้พฤติกรรมของผู้คน ได้ซึมซับกฎเกณฑ์ทางสังคม ความคิด ความเชื่อ และระเบียบแบบแผน ตลอดจนประเพณีที่ถ่ายทอดกันมา ทำให้เข้าใจความเป็นมาของบ้านเมืองตนเอง รวมทั้งวัฒนธรรมที่จะต้องธำรงรักษาและสืบทอดกันต่อไป
4. บทบาทในการเป็นป้ายประกาศสาธารณะ

หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ประกาศโฆษณาข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เหตุการณ์ ประชาชนจำเป็นต้องบริโภคข่าวสาร ไม่แตกต่างไปจากการใช้น้ำประปาและไฟฟ้า หนังสือพิมพ์จึงเป็นเสมือนสาธารณูปโภคชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และเพลิดเพลินมากขึ้น




ผลกระทบ

ผลกระทบของหนังสือพิมพ์ต่อผู้อ่านและสังคม

หนังสือพิมพ์มีความสัมพันธ์ต่อผู้อ่านใน 2 ลักษณะคือ
1. เป็นผู้ประกอบสร้างความจริง ค่านิยม อุดมการณ์ให้แก่ผู้อ่านและสังคม
2. เป็นผู้ผลิตซ้ำ หรือให้น้ำหนักแก่ค่านิยม อุดมการณ์ของสังคมที่เชื่อถือปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นบรรทัดฐาน เป็นการรักษาระเบียบของสังคมผลกระทบที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมของผู้อ่านสามารถ

สรุปประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้

มิติด้านบวก
มิติด้านลบ
1. ก่อให้เกิดการแสดงสาธารณมติ
1. ก่อให้เกิดการโน้มน้าวใจ การเชื่อฟังได้ง่าย
2. ก่อให้เกิดการแสดงความคิดที่หลากหลาย
2. ก่อให้เกิดการผูกขาดทางความคิด เกิดเสียง
เงียบในหมู่ของมวลชน
3. ก่อให้เกิดการรักษาและจัดระเบียบสังคม 
3. ก่อให้เกิดการครอบงำและควบคุมสังคมตาม
ที่กลุ่มอำนาจต้องการ
4. ก่อให้เกิดพลังของประชาชนในการตรวจสอบ
4. ก่อให้เกิดความเมินเฉยและขาดศรัทธาต่อ
5. ก่อให้เกิดความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์
5. ก่อให้เกิดความยอมจำนนและไม่ตั้งคำถาม
6. ก่อให้เกิดการสร้างค่านิยมและทัศนคติใหม่ ๆ
6. ก่อให้เกิดการตอกย้ำค่านิยมเดิม ๆ ไม่ยอม
รับความเปลี่ยนแปลง
7. ก่อให้เกิดการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
7. ก่อให้เกิดความรู้ที่ผิด ๆ ความรู้แบบมีอคติ
8. ก่อให้เกิดความปรองดอง ชาตินิยม
8. ก่อให้เกิดการหลงติดในชาตินิยม และ
เหยียบหยามเชื้อชาติอื่น
9. ก่อให้เกิดความเตรียมพร้อมและรับมือกับ
เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดี
9. ก่อให้เกิดความตระหนกตื่นกลัวและนำไปสู่
ภาวะสับสน วิกฤติทางสังคม
10. ก่อให้เกิดความรอบรู้ ทันเหตุการณ์
10. ก่อให้เกิดการหลงติดในค่านิยมที่ไม่เหมาะ
สอดคล้องกับบริบทของไทย
11. ก่อให้เกิดความตระหนักในสิทธิส่วนบุคคล
11. ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล




ประเภทของหนังสือพิมพ์

ประเภท

ประเภทของหนังสือพิมพ์แบ่งโดยอาศัยลักษณะของเนื้อหาสำคัญเป็น  2  ประเภท  คือ
1.  หนังสือพิมพ์แนวคุณภาพ (quality newspapers) หมายถึง หนังสือพิมพ์ที่มุ่งเน้นการเสนอข่าวประเภทข่าวหนัก (hard news) เช่น ข่าวสังคม ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการศึกษา ข่าวเหล่านี้มุ่งสนองความรู้ ความคิดของผู้อ่านเป็นสำคัญ การใช้ภาษา ในหนังสือพิมพ์ประเภทนี้จะไม่หวือหวาเร้าอารมณ์มากนัก มีลักษณะค่อนข้างจริงจัง เนื้อหาเน้นเรื่องรายละเอียดข้อเท็จจริง การแสดงความคิดเห็นจะใช้เหตุผลมากกว่าเล่นสำนวน หนังสือพิมพ์ประเภทนี้มีจำนวนจำหน่ายไม่สูงนัก ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ประเภทนี้มักจะเป็นผู้บริหารหรือผู้มีการศึกษาพอสมควร เช่น ข้าราชการ  ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักธุรกิจ เป็นต้น ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ประเภทนี้  ได้แก่ มติชน สยามรัฐ สยามโพสต์ฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติธุรกิจ กรุงเทพธุรกิจรายวัน เป็นต้น
2.  หนังสือพิมพ์แนวประชานิยม (popular newspapers) หรือ หนังสือพิมพ์ปริมาณหมายถึง หนังสือพิมพ์ที่เน้นการเสนอข่าวประเภทเร้าอารมณ์ (sensational) หรือ ข่าวเบา (soft news) เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวภัยพิบัติต่างๆ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเพศ ข่าวบุคคล ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง ข่าวแปลกประหลาด ข่าวในแวดวงสังคม ข่าวความขัดแย้ง และความรุนแรงต่าง ๆ เป็นต้นข่าวเหล่านี้เป็นข่าวประเภทที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปสนใจ สนองอารมณ์ของ คนส่วนใหญ่ในสังคม เหมาะกับผู้อ่านทุกระดับชั้น

ลักษณะการเสนอเนื้อหาสาระประเภทนี้เต็มไปด้วยการเร้าอารมณ์ การใช้ภาษา ในหนังสือพิมพ์ ประเภทนี้มักใช้ถ้อยคำที่หวือหวาเกินจริงเร้าอารมณ์ของผู้อ่านมาก ดึงดูดความสนใจโดยการพาดหัวข่าวตัวโตๆ มีรูปภาพประกอบข่าวมากมาย  รูปแบบการเขียนเต็มไปด้วยสีสันจินตนาการ  และมักจะใช้ภาษาแบบสร้างภาพพจน์อยู่เสมอ หนังสือพิมพ์ประเภทนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายของคนทั่วไปมาก มียอดจำหน่ายค่อนข้างสูง ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ประเภทนี้ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด บ้านเมือง แนวหน้า คม ชัด ลึก เป็นต้น


วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ลักษณะของหนังสือพิมพ์


หนังสือพิมพ์มีลักษณะเฉพาะอยู่หลายประการ พอจะสรุปได้ดังนี้  (จันทนา  ทองประยูรและวิภา  วงรุจิระ, 2550, หน้า 125-127)
1. หนังสือพิมพ์มีหน้าที่ในการแจ้งเรื่องราวให้มวลชนรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และติดตาม
สืบสวนเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญ สะเทือนขวัญ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เป็นที่สนใจกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น
2. หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนในการให้ความรู้ ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น โน้มน้าวชักชวน ชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมหรือในประเทศ   และเสนอเนื้อหาให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่านในรูปแบบต่าง ๆ 
3. หนังสือพิมพ์บรรจุเนื้อหาหลายประเภททั้งข่าว บทความ บทบรรณาธิการ บทวิเคราะห์ สารคดี คอลัมน์ประจำและบันเทิงคดีในรูปแบบต่างๆ เนื้อหาทั้งหมดที่นำเสนอต้องผ่านการคัดเลือก กลั่นกรองและความเห็นชอบจากบรรณาธิการให้ตีพิมพ์เผยแพร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของหนังสือพิมพ์ 
4. หนังสือพิมพ์มีรูปแบบเป็นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่หลายแผ่นที่ผ่านการพิมพ์ ซ้อนกันและพับโดยไม่ทำเล่มหรือเย็บเล่ม และไม่มีแผ่นหุ้มปก หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ปกในตัว 
5. หนังสือพิมพ์มี 2 ขนาดได้แก่ขนาดมาตรฐานหรือขนาดใหญ่แนวนอนกว้างประมาณ 15 นิ้วแนวตั้งยาวประมาณ 21-23 นิ้วและขนาดเล็กหรือขนาดแทบลอยด์ (tabloid) มีขนาดเป็นครึ่งหนึ่งของขนาดใหญ่ทั้งด้านกว้างและยาวมักใช้เป็นฉบับแทรกในหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ หรือเป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเนื้อหาเฉพาะด้าน
6.หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เผยแพร่และจำหน่ายเป็นรายวันหรือทุกวัน บางฉบับเป็นรายสามวัน หรือรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์รายวันส่วนใหญ่นำเสนอข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน บางฉบับออกหลายกรอบหรือหลายครั้งในหนึ่งวัน เนื้อหาแต่ลักรอบแตกต่างในด้านการจัดหน้า หน้าแรกและเนื้อหาบางอย่าง
7. หนังสือพิมพ์หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เสนอข่าวรายวัน จำหน่ายในราคาต่อฉบับไม่สูงนัก การผลิตจึงใช้กระดาษคุณภาพต่ำ ราคาไม่แพง เพื่อลดต้นทุนและสามารถจำหน่ายในราคาไม่แพง
8. ผู้อ่านหนังสือพิมพ์มีการกระจายตามลักษณะทางประชากรศาสตร์ เช่น เพศ วัย การศึกษา อาชีพ ภูมิลำเนา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ผู้อ่านหนังสือพิมพ์อาจมีเฉพาะกลุ่มตามลักษณะเนื้อหา เช่นเนื้อหาด้านเศรษฐกิจ ด้านกีฬา และอาชญากรรม เป็นต้น


หนังสือพิมพ์



ความหมาย

หนังสือพิมพ์ หมายถึง สิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่งที่มีกำหนดตีพิมพ์เผยแพร่รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายประจำ  ตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ไม่เย็บเล่ม  และไม่มีปก เนื้อหาส่วนใหญ่ มุ่งเสนอข่าวสารต่าง ๆ เช่นข่าวสังคม  เศรษฐกิจ การเมือง อาชญากรรม อุบัติเหตุ การศึกษา กีฬา บันเทิง ทั้งในและต่างประเทศ  และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน สารคดี โฆษณา เป็นต้น